
“ลูกค้าคือพระเจ้า” เมื่อทำงานกับลูกค้าที่รับมือด้วยยากๆ กี่คนๆ ก็ยังไม่พอใจในผลงาน และถึงคิวท่านที่จะต้องเจอด้วยตัวเองบ้าง ก็อย่าหาทางหลบเลี่ยง คิดเสียว่าไม่ดีก็เสมอตัวเพราะใครๆก็โดนแบบเดียวกัน แต่ถ้าคุณทำได้ คุณก็กำไร เป็นฮีโร่เชียวละ ก็มีหลายสูตรในการรับมือกับคนที่ทำงานด้วยยากๆ โดยเฉพาะกับท่านที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง บ้านเราผู้คนยังมีแบบนี้เยอะ เมื่อมีอำนาจก็ใช้อำนาจแบบฟุ่มเฟือย สั่งงานคนแบบทาสรับใช้ ฝ่ายผู้ให้บริการก็ฝึกผู้คนให้เตรียมรับมุกให้ดีตลอดรอดฝั่ง เงินเข้าบริษัทคือผลงาน หลายคนแนะนำให้กินสตอเบอรี บางคนให้ไปทำบุญทำสังคทานเยอะๆ …ก็ว่ากันไป
สิ่งที่ผู้เขียนจะแนะนำกันมี 5 ข้อใหญ่ๆ
ต้องบอกก่อนว่า ผู้เขียนคงไม่รับรองว่าจะได้ผล 100% เพียงแต่นำประสบการณ์มาแชร์กัน มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบกัน ท่านต้องคิดหาทางพลิกแพลงเพิ่มเติม ไม่มีสูตรตายตัวหรอกครับ ส่วนลูกค้าประเภทที่จ่ายเงินยาก หรือเข้าใจภาษาคนยาก อันนั้นผมช่วยไม่ได้นะครับ ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นของผมคนเดียว ถ้าเห็นว่าดีก็พิจารณาเลือกนำไปใช้ ถ้าไม่เห็นด้วยก็อย่าเอาไปใช้ครับ… 🙂
- ศึกษาลูกค้า
- หาคนทำงานที่เหมาะสม
- ทำงานให้เร็ว ตอบโจทย์ให้ไว
- ทำงานแบบทีมเดียวกัน
- หาแบคอัพดีๆ
1. ศึกษาลูกค้า
“รู้เขา รู้เรา…” ปราชญ์ขงจื๊อท่านแนะนำไว้ หาเวลาไปเดินตลาดจริงๆ ศึกษาตลาดและสินค้าของเขาให้ดีที่สุด ยิ่งคุณรู้บางอย่างที่ลูกค้าไม่รู้ มันจะเป็นข้อได้เปรียบอย่างดี ศึกษาวิธีการทำงาน ศึกษากระบวนการทำงาน ศึกษาอุปนิสัยใจคอในการทำงาน ศึกษาลูกน้องของเขา ศึกษารสนิยม ศึกษาการพูดจาของเขา ศึกษาทุกอย่างที่เป็นตัวเขา ที่อยู่รอบตัวเขา….ให้ได้มากที่สุด สิ่งที่ไม่ต้องไปสืบหาคือเรื่องส่วนตัว กินอยู่อย่างไร ประเภทจะหาทางไปเอาใจ แนะนำว่าไม่ต้องทำนะครับ
เพราะถ้าคุณเรียกชื่อลูกค้าผิด หรือจำราคาของสินค้าในแต่ละ Range ไม่ได้ละก็…เกมส์โอเว่อร์ง่ายๆกันเลยละครับ ตรงนี้หลายคนตีความผิดๆว่า ต้องเอาอกเอาใจลูกค้า …ไม่ใช่นะครับ การตามใจเป็นแค่การเอาตัวรอด มีแต่จะทำงานยากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะหมายถึงทุกเรื่องเขาจะต้องตัดสินใจเอง เขาก็ควรจะรู้ทุกเรื่องเป็นอย่างดี เท่าที่ผมจำได้ ไม่มีใครเก่งขนาดนั้นนะครับ แค่อย่าไปผิดทาง ผิดวัตถุประสงค์ของเขา ถ้าเขากำลังพูดถึงรถญี่ปุ่น ก็อย่าไปฝืนเอารถยุโรปให้เขา เพราะคนเรามี perception ต่างกัน มี expectation ต่างกัน มีรสนิยม ประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างกัน พูดง่ายๆคือร้อยพ่อพันแม่ อย่าไปคิดเหมาเอาเองว่าเขาจะชอบแบบที่เราชอบซะทั้งหมด ควรนำเสนอสิ่งที่ตอบโจทย์มากๆ และไปในทิศทางเดียวกัน เพราะถ้าไปบังคับให้เขาชอบในสิ่งที่เขาไม่คิดจะชอบ ถ้าเกิดเสียหายมา คุณรับเละแน่ๆ ครับ
2. หาคนทำงานที่เหมาะสม
“The right man to The right job” หลายคนเข้าใจว่าคนทำงานแบบประสานสิบทิศ น่าจะมีบุคลิกแบบ easy going อารมณ์ดี รับแรงกดดันได้ดี เป็นคนที่เหมาะกับงานยากๆ ผมกลับมองว่าคนที่ทำงานอย่างตั้งใจ กระทำและพูดอย่างจริงใจ คือคนที่มีเสน่ มัดใจลูกค้าทุกรูปแบบ เอาเข้าจริงๆ แบบที่ชอบเอาใจลูกค้า อาจทำงานไม่ค่อยได้เนื้อได้น้ำเท่าใหร่ เพราะเกิดอาการเกรงใจกัน สิ่งที่เสียกลับมีเยอะกว่า ลูกค้าตัดสินใจเอง แก้ไขกันไปมา เพราะตัวเองไม่ชอบงานของตัวเอง (ไม่ได้เรียนมานี่) งานไม่ค่อยได้อย่างใจหรือล่าช้าก็หยวนๆกันไป ผมเดาไว้เลยว่า..วันหนึ่งมีระเบิดลงแน่ๆ ครับ และลงที่บริษัทคุณด้วย
3. ทำงานให้เร็ว ตอบโจทย์ให้ไว
การทำงานทุกขั้นตอน ควรเริ่มตั้งแต่วันแรก สิ่งที่ยังไม่ได้ Active เรียงอันดับไว้ในใจทั้งหมด เพราะอันใหนไม่รู้ จะได้เติมเต็มขอข้อมูลไว้ทั้งหมด ไม่ใช่ถามไปทีละทุกขั้นตอน น่าเบื่อและดูไม่เป็นมืออาชีพ วันแรกที่รับ Brief กัน คุณสามารถใช้กลยุทธ “โยนก้อนหินถามทาง” ได้ การรับ Brief ไม่ควรเป็นแค่การรับข้อมูลฝ่ายเดียว ควรมีการปรึกษาหารือและแอบเสนอไอเดียกว้างๆ เป็นการแผ้วถางทางในป่ารกๆไว้ด้วย เพราะงานที่เร็วไม่ใช่แค่ทำงานได้เร็ว แต่ตอบโจทย์ได้เร็วด้วย
4. ทำงานแบบทีมเดียวกัน
ข้อนี้คือไฮไลท์ของวันนี้ ท่านกับลูกค้าที่มักจะตั้งป้อมหาเหตุผลมาคัดง้างกันในที่ประชุมว่าของใครดีกว่า สุดท้ายลูกค้าก็ชนะแบบเดิมๆ ลองวิธีนี้ดูนะครับ ถ้าทำได้นะครับ ลองปรึกษาคุณลูกค้าที่ชอบตัดสินใจทุกอย่างเองว่า อยากลองทำงานวิธีใหม่ๆ มั้ย เช่น ทำงานไปพร้อมๆกัน ชวนไปตรวจตลาดด้วยกัน ชี้ชวนกันดูของคู่แข่ง วิเคราะห์วิจารณ์กัน เราเรียนรู้หลายสิ่งเรื่องสินค้าและตลาดจากเขา แล้วเราก็ค่อยๆสอดใส่ไอเดียที่จะนำเสนอไปเรื่อยๆ อันไหนมีพยักหน้า หรือชอบมาก อันนั้นคุณเอามาสานต่อได้เลย ถ้าตอน Present ยังหาเรื่องยิงกันแหลกด้วยนิสัยเดิมๆ แต่เขาอาจจะฉุกคิดขึ้นก็ได้ว่า ไอเดียนี้ของตูช่วยคิดนี่หว่า
5. หาแบคอัพดีๆ
ถ้ายังดิ้นไม่ยอมหยุด ด้วยนิสัยเดิมๆ แบบต้องทุบให้ช้ำ ให้เสียเวลาเล่นๆก่อนกิน กว่าจะตัดสินใจงานแต่ละอย่างเล่นซะเกือบหมดทุกวินาที พอจะ Launch ก็ฉิวเฉียดทุกที อันนั้นก็ต้องเล่นแบบไทยๆ แล้วละครับ เพราะท่าทางเทวดาก็ชักจูงท่านไม่ได้ มองขึ้นไปในสายงานสูงขึ้นไปอีกว่า ยังมีใครที่มีเหตุมีผลที่เข้าใจงานมากกว่าคนบ้าอำนาจคนนั้น เจ้าของบริษัทหรือ CEO ไปเลย หารือกับผู้บริหารเราให้เข้าไปขอคำปรึกษาการทำงานที่ยังมีปัญหา คือถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว แต่ยังเจอคนที่ทำงานด้วยใช้อำนาจแบบค้านสายตาคนทั่วไปมากๆ สิ่งที่เขากลัวมากๆ คือกลัวเจ้านายเขาจะรู้นะครับ ก็ต้องแอบๆบอก เช่นนัดไปตีกอล์ฟ พอสนิทกับผู้บริหารเรา และถ้าเขาทราบ เขาน่าจะลดความบ้าลงได้บ้างเพื่ออนาคตของตัวเอง