เวลาเดินทางไปญี่ปุ่น ผู้เขียนเชื่อว่านักท่องเที่ยวอาจจะพบเห็นคล้ายๆ กัน และมักจะเอาประสบการณ์เหล่านั้นไปแสดงไว้ในเฟสบุ๊ก ไลน์ อินสตาร์แกรม หรือผ่านเลนส์ของกล้องถ่ายภาพ สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการใช้ชีวิตและ “มุมมอง” ของแต่ละคน
ผู้เขียนได้ทั้งความสนุกสนานในการท่องเที่ยวไปในที่ใหม่ๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น และยังรู้สึกมีความสุขกับการได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาหรือการตลาด เช่น การท่องเที่ยว ร้านอาหาร สินค้าประเภทต่างๆ ช่วงนี้ผู้เขียนเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างบ่อย จึงจะนำเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาแชร์มากสักหน่อยนะครับ
ทำไมต้อง Differentiate?
สินค้าประเภทเดียวกัน มี Features คล้ายกัน มีเยอะมากในตลาดของญี่ปุ่น แต่เป็นเรื่องแปลกที่แม้ชาวญี่ปุ่นบางคนอาจจะไม่ได้เรียนการตลาดมา แต่ก็รู้ได้ถึงการทำให้สินค้าของตัวเองให้ “แตกต่าง” (Product Differentiation)
ความเป็นมาจากรุ่นปู่สู่รุ่นลูกหลาน (History)
ทุกแทบธุรกิจในญี่ปุ่นมักจะสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การเรียนรู้เกิดขึ้นตั้งแต่ลืมตามองโลก ต้องเจอกันทุกวัน แถมชาวญี่ปุ่นเป็นคนที่เอาจริงเอาจังกับทุกเรื่อง ยกตัวอย่าง
- การเปิดร้านอาหารประเภทซูชิ
_ รสชาติต่างกัน แม้จะเป็นปลาชนิดเดียวกัน เพราะอยู่ต่างท้องถิ่นกัน แหล่งน้ำต่างกัน
_ จุดขายต่างกัน ในแถบฮอกไกโด “หอยเม่น” ถูกโจษจันว่าอร่อยมากจนขึ้นชื่อลือชา แม้ถิ่นอื่นก็มีเหมือนกัน - การเปิดร้านอาหารประเภทเนื้อย่างหรือสเต็ก
_ คุณภาพเนื้อของวัวที่ต่างสายพันธุ์กัน เช่น ที่เมืองโกเบ จะขึ้นชื่อมากที่สุด เพราะเคยได้รับรางวัลที่ 1 ในเวทีระดับโลก
_ คุณภาพของเนื้อในถิ่นต่างๆ ที่มีความดีเด่นแตกต่างกันไป เพราะเนื้อวัวที่ญี่ปุ่นไม่ได้อร่อยเฉพาะที่โกเบ เพียงแต่การตลาดชี้นำผู้บริโภคให้ไปตามกระแสของโปรโมท เนื้อวัวจากที่ต่างๆ ก็พยายามชูจุดเด่นของตัวเองให้แตกต่างกันออกไป บางแห่งแค่โชว์ลายเนื้อที่มีริ้วไขมันสวยๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้คนที่ค้นหาอยากเดินทางไปลิ้มลอง บางแห่งเน้นรสชาติของน้ำจิ้ม บางแห่งขายเป็นบุพเฟ่เน้นความหลากหลายของเนื้อเกรดดีในราคาที่คุ้มค่า เป็นต้น
Consumer Product
น้ำดื่ม เราจะพบตู้ขายน้ำแบบหยอดเหรียญอยู่ทั่วไป พบว่ามีทั้ง น้ำเปล่า น้ำโซดา น้ำโซดาใส่กลิ่นผลไม้ น้ำผลไม้ และมีให้เลือกอีกมากมาย มีหลายบริษัท แต่ละบริษัทก็พยายามทำสินค้าให้แตกต่างทั้งหน้าตา (Packaging) และรสชาติ ถ้าเป็นบ้านเราสินค้าบางอย่างคงต้องถูกถอนออกจากตลาดในเวลาไม่นานนัก เพราะยิ่งหลากหลาย ยิ่งทำให้กำลังซื้อน้อยลง ต้องไปแชร์เค้กในก้อนเดียวกันที่ยังมีขนาดเท่าเดิมมาแต่ใหนแต่ไร แต่ที่ญี่ปุ่นกลับไม่ใช่อย่างนั้น ยิ่งแตก Product Line สินค้าก็ยิ่งแตกกิ่งก้านสาขาออกไปเรื่อยๆ เพราะญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ Perfect แถมเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการ R&D (Research and Development) กว่าจะผลิตสินค้าแต่ละอย่างออกมาได้นั้นผ่านกระบวนการมากมาย ที่สำคัญสินค้าที่ออกมาใหม่ๆ มักจะเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแท้จริง…ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาการโปรโมทเพื่อขายของให้ได้แบบในบางประเทศ
การตั้งราคา Pricing
บางครั้งการตั้งราคาต่ำได้ โดยลดต้นทุนลงให้มากกว่าคนอื่น ก็ทำให้สินค้ามีจุดขายที่แตกต่างได้แล้ว แต่ค่าครองชีพในญี่ปุ่นจะค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว นักท่องเที่ยวเหมือนจะรับรู้เป็นอย่างดี และเตรียมทำใจ เตรียมค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ขอเพียงอย่าโดนหลอกให้จ่ายแพงกว่าคนอื่นก็พอใจแล้ว ทั้งนี้เพราะคุณภาพที่ดีทำให้เป็นที่ยอมรับได้นั่นเอง
การบริการ (Service)
การบริการของชาวญี่ปุ่นโดยเฉลี่ย ขึ้นชื่อว่าดีเยี่ยม เพราะชาวญี่ปุ่นถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเรื่องความใส่ใจในทุกรายละเอียด รวมทั้งการใส่ใจลูกค้า ความสุภาพเรียบร้อย มีสัมมาคารวะ แม้บางครั้งมีการแจ้งว่าเจอบริการที่ไม่ดี ผู้เขียนพบว่าส่วนใหญ่มาจากขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการใช้สื่อภาษาและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน ผู้เขียนยังพบว่าลูกจ้างชาวญี่ปุ่นจะยิ้มใจเย็นและเคร่งครัดมากในเวลางาน แต่อาจจะแตกต่างกันไปเมื่อต้องเจอกับเจ้าของกิจการที่ดูแลกิจการด้วยตนเอง
กลุ่มเป้าหมาย (Target Market)
การท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น คือความมหัศจรรย์ของการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพราะดูเหมือนว่าจะกำหนดให้ชัดเจนยากมาก แม้ชาวจีนจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดแต่ก็มีหลากหลายชนชั้นฐานะอาชีพ การใช้จ่ายก็ต่างกัน แถมยังมีอีกนักท่องเที่ยวอีกหลากหลายประเทศตุงนังเข้าไปอีก นักการตลาดญี่ปุ่นคงปวดประสาทน่าดู ความมหัศจรรย์ที่กล่าวไว้ก็คือว่า นักท่องเที่ยวแต่ละคนกลับกำหนดตัวเองลงไปเลยว่าตัวเองคือกลุ่มใหน แตกต่างกับคนอื่นอย่างไร แม้จะเป็นชาติเดียวกันก็ตาม เช่น คนที่ชอบสัมผัสขนบธรรมเนียมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม และไม่เกี่ยงค่าใช้จ่ายเพราะไม่ได้มาเที่ยวบ่อย ก็อาจจะเลือกที่พักระดับ Premium เช่น เรียวกัง ที่มีออนเซ็นในบรรยากาศติดธรรมชาติอันสวยงาม นักท่องเที่ยวบางคนกลับพอใจที่จะเลือกพักในโรงแรมใจกลางเมืองแบบนักธุรกิจที่ราคาประหยัดหน่อย ใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่ก็เลือกซื้อสินค้าและบริการที่ราคาสูงในบางรายการที่ตนชื่นชอบเท่านั้น…เรียกได้ว่า แบ่งกลุ่มกันตาม “ความสามารถในการใช้จ่าย” และ “รสนิยม” ก็ไม่น่าจะผิด
โฆษณาและประชาสัมพันธ์
หลายคนอาจจะคิดว่าเขาโฆษณาเก่งเพราะเห็นรายการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในทีวีบ่อยๆ ความจริงคือว่า “ของเขาดีจริง” อยู่แล้วครับ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยสดงดงาม บ้านเมืองน่าอยู่ สินค้าและการบริการที่น่าประทับใจ ใครไปมาแล้ว ก็อยากกล่าวถึงเวลากลับมา สิ่งดีๆเหล่านั้นเป็นโฆษณาแบบปากต่อปากที่ได้ผลอย่างยิ่ง แถมมาตอกย้ำกันบ่อยๆ ในหลากหลายรูปแบบทั้งสารคดีการท่องเที่ยว รายการเกมส์โชว์ นักร้องดังดาราดัง แถมยังมีการโปรโมททัวร์ญี่ปุ่นของเอเย่นที่แข่งขันเรื่องราคากันอย่างครึกโครม ทั้งหลายเหล่านี้ส่งผลให้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้รับอานิสงค์อย่างเต็มๆ และเติบโตแบบก้าวกระโดดในแต่ละปี
ประสบการณ์จากการท่องเที่ยวนี้ ย้ำสอนให้ผู้เขียนมั่นใจได้ว่า …สินค้าดีจริง มันขายตัวมันเองได้ครับ ไม่จำเป็นต้องโปรโมทมากมาย เหมือนสินค้าดีๆ ส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น และถ้าสินค้าไม่ดีจริง มันจะตายไปเอง เพราะคนลองแล้วไม่กลับไปซื้อซ้ำอีกนั่นเอง ในมุมมองของผู้เขียน คิดว่าสิ่งเหล่านี้สอนเราหลายอย่าง คนที่กำลังพัฒนาสินค้าขึ้นมาเอง ต้องการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ต้องคำนึงถึงสิ่งดีๆ ของชาวญี่ปุ่นให้มาก แม้คุณจะขายก๋วยเตี๋ยวที่คนขายกันแทบทุกซอยในประเทศไทย…คุณก็ควรมีจุดขายที่แตกต่างจากคนอื่น (Product Differentiation) และควรดีจริงตามคำกล่าวอ้างครับ